29 ธันวาคม 2558




สเตรปโตคอคคัส ซูอิส อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก
โดย น.สพ.ยุทธพล  เทียมสุวรรณ
Technical Manager M G PHARMA Co., Ltd.
        ไม่ทันไรก็จะผ่านพ้นหน้าฝนไปแล้ว ปีนี้หน้าหนาวอาจมาเร็วขึ้น แต่จะหวานมากน้อย คงขึ้นกับสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงของปีนี้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
        ช่วงปลายฝนต้นหนาว ชาวเกษตรกรเลี้ยงหมูควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนฤดู ซึ่งก่อความสูญเสียอย่างมากในสุกรอนุบาล หรือสุกรเล็ก ด้วยปัญหาอาการชัก ร่วมกับลักษณะข้อต่อบวมอักเสบ หลายคนเคยเจอ หรือรู้สึกกันดีแล้ว ว่าคงหนีไม่พ้นติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส(Streptococcus suis; S.suis)
        เชื้อนี้ยังมีความสำคัญทางการสาธารณสุข เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้ รู้จักกันในชื่อ ไข้หูตับ ซึ่งรุนแรงถึงขั้นโคม่า และเสียชีวิตได้
        เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างทรงกลม หรือรูปไข่ อยู่เป็นคู่หรือต่อกันเป็นสายยาว ปัจจุบันพบมากกว่า 35 ซีโรไทป์ ที่แยกได้จากสุกรส่วนใหญ่เป็นซีโรไทป์ 1-9 อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อีก ที่สำคัญคือ group D ซึ่ง type 1 ก่อโรคในช่วงสุกรดูดนม และ type 2 ที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยก่อให้เกิดความเสียหายในช่วงสุกรอนุบาล และสุกรขุน รวมถึงมีรายงานก่อโรคในคนบ่อยๆ ส่วน group C, E และ L ก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่า
        พบเชื้อได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด สุกรเป็นแหล่งเก็บกักเชื้อที่สำคัญโดยไม่แสดงอาการป่วย มักพบเชื้ออาศัยอยู่ในโพรงจมูก ทอนซิล ต่อมน้ำลาย และช่องคลอด ทำให้ลูกสุกรเกิดใหม่มักได้รับเชื้อถ่ายทอดมาจากแม่ แต่ในปริมาณน้อย ไม่ทำให้ป่วย แถมยังมีข้อดีที่กระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้อีกด้วย
        จากนั้นหากสุกรเจ็บป่วย หรือเกิดความเครียด จะส่ง ผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง จนกลไกที่คอยควบคุมมิให้เชื้อแบ่งตัวมากเกินไปทำงานได้ไม่ดี เชื้อที่มีอยู่ในร่างกายจึงแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ร่วมกับจะไวติดรับเชื้อจากภายนอกได้ง่าย สุกรจึงแสดงอาการป่วยเป็นโรค โดยปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญนี้ได้แก่ ภาวะที่กด หรือลดระดับภูมิคุ้มกันโดยตรง เช่น สารพิษเชื้อรา สาร LPS จากเชื้อ E.coli โรค PRRS โรคเซอร์โคไวรัส ส่วนทางอ้อม ได้แก่ ความเครียดจากการขนย้าย รวมฝูงใหม่ เปลี่ยนคอกที่อยู่ เปลี่ยนอาหาร ในช่วงหลังหย่านมลงอนุบาล หรือลงขุน ดังจะเห็นได้ว่ามักเป็นโรค และแสดงอาการในช่วงนี้พอดี ร่วมกับสภาพการเลี้ยงที่หนาแน่น การเลี้ยงปนกันหลายอายุ อากาศที่หมุนเวียนไม่ดี ร้อน หนาว ฝนสาด ชื้น มีฝุ่น แก๊สแอมโมเนียสูง ยิ่งหากฟาร์มมีสุขศาสตร์ที่ไม่ดี ปล่อยมีเชื้อหมักหมก ตัดเขี้ยวตัดหางสกปรก สุกรก็จะมีโอกาสติดเชื้อ เป็นโรคมากขึ้นตามไปด้วย
        และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อ S.suis ในลูกสุกรที่มาก และเป็นเวลานาน จะทำให้ไปฆ่าเชื้อที่ได้รับมาจากแม่สุกรจนหมดสิ้น ร่างกายจึงไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันปกป้องโรค ต่อ เมื่อไปสัมผัสเชื้อครั้งแรกในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จึงก่ออาการป่วยที่รุนแรง หรือเกิดเป็นโรคระบาดได้
        สุกรจะมีไข้สูง 40-42 C ซึม ตัวสั่น ขาเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน กล้ามเนื้อกระตุก ชักเหยียดเกร็งหลังแอ่น นอนตะกุยเท้า อัมพาต กรอกตาไปมา สูญเสียการมองเห็น หูหนวก ภาวะโลหิตเป็นพิษ ผิวหนังสีแดงปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบมีหนอง อาจตายเฉียบพลันในตัวที่อ้วนสมบูรณ์ดี หากเรื้อรังมักพบเดินขากระเผลก จากข้อต่อบวมร้อนอักเสบแบบมีหนอง ขาแข็ง เจ็บปวดไม่อยากลุกเดิน พบลิ้นหัวใจอักเสบ แม่พันธุ์แท้งลูกมักสับสนกับโรคแกลสเซอร์
        จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า การแก้ไข หรือควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อ S.suis ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิธีจัดการที่เปลี่ยนได้ยากในแต่ละฟาร์ม ซ้ำยังมีโรค PRRS มาเป็นปัจจัยส่งเสริม ดังเช่นการศึกษาของ Thanawongnuwech และคณะ ในปี 2000 รายงานว่าลูกสุกรที่ติดเชื้อ PRRS จะมีอุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ S.suis เพิ่มสูงมากขึ้น
        ลูกสุกรอายุ 3 สัปดาห์ จำนวน 80 ตัว กลุ่มที่ได้รับเชื้อ PRRS สายพันธุ์รุนแรง ร่วมกับเชื้อ S.suis ซีโรไทป์ 2 จะมีอัตราการตายสูงที่สุดถึง 87.5% ส่วนกลุ่มที่ได้รับเชื้อร่วมกับ PRRS สายพันธุ์อ่อน จะมีอัตราการตาย 37.5% และกลุ่มที่ได้รับเพียงแค่เชื้อ S. suis จะมีอัตราการตายเพียง 14.3% ส่วนกลุ่มที่ได้รับเพียงเชื้อ PRRS จะไม่พบอัตราการตายเลย
        ให้ผลเช่นเดียวกับ % การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบและเชื้อ S. suis ที่แยกได้จากเนื้อเยื่อ อันเนื่องมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่เรียกว่า PIM ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกจากกระแสโลหิตนั้น ถูกทำลายโดยเชื้อไวรัส PRRS ทำให้ลดประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อ S. suisออกจากกระแสโลหิต เมื่อติดเชื้อร่วมกันจึงแสดงอาการรุนแรงมาก โดยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ PRRS ร่วมด้วย
        ในการศึกษาเดียวกันนี้ยังพบอีกว่า อาการทางคลินิกของโรค PRRS อันได้แก่ มีไข้สูงเป็นเวลานาน และอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ในสุกรที่ติดเชื้อร่วมกันจะมีอุบัติการณ์สูงกว่า และรุนแรงมากกว่าที่ติดเชื้อ PRRS หรือ S. suis เพียงอย่างเดียว โดยตรวจพบไวรัส PRRS ในสุกรที่ติดเชื้อร่วมกันได้มากกว่าถึง 71.4% ในขณะที่สุกรติดเชื้อ PRRS เพียงอย่างเดียวจะตรวจพบไวรัสได้เพียง 38.5% ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเชื้อ S. suis ช่วยกระตุ้น หรือเอื้ออำนวยสภาพเหมาะสมให้เชื้อ PRRS เพิ่มจำนวน และคงอยู่ได้ยาวนาน
Table 1 Mortality and morbidity rates of each group (ตามภาพประกอบ)

          ดังนั้นในการควบคุมปัญหา สเตรปโตคอคคัส ชูอิส โดยคำนึงแค่เรื่องการจัดการฟาร์ม สุขศาสตร์ และการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ คงไม่เพียงพอแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องสถานภาพ การจัดการ และควบคุมโรค PRRS ร่วมด้วยเสมอ ในทางกลับกันหากต้องการควบคุม หรือแก้ไขปัญหาโรค PRRS ให้ได้ผลดียั่งยืน นอกจากวัคซีนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีเหมาะสมแล้ว เราก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ที่มักติดร่วมกัน หรือแทรกซ้อนตามมา ดังเช่น สเตรปโตคอคคัส ชูอิส นี้ร่วมด้วยเสมอ คำสอนซุนวูที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คงเปรียบได้กับปัญหาที่ท่านกำลังจะเจอในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ หากมีความรู้เข้าใจแล้วไซร์ ก็คงไม่ยากที่จะรับเมืออีกต่อไป สเตรปโตคอคคัส ชูอิส ก็คงเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ตามที่คิดไว้แต่แรก....!!!
        เช่นเดียวกับมัยโคพลาสมา ยืนยันผลด้วยการศึกษาของ Xu และคณะ ในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ HP-PRRS ในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2006 พบว่าการติดเชื้อร่วมกันระหว่าง HP-PRRS และ S.suis ก่อให้เกิดความเสียหาย และอาการทางคลินิกที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นจาก 16.7% เป็น 80% เชื้อ HP-PRRS มีผลทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้ไวรับต่อเชื้อ S.suis และแพร่กระจายไปได้ทั่วทุกอวัยวะ ในเวลาอันรวดเร็วมากขึ้น ก่อเกิดอาการที่รุนแรงกว่าเดิม
        แม้ว่าซีโรไทป์ 7 ที่พบในการระบาด และใช้ศึกษาครั้งนี้ จะเป็นชนิดที่มีความรุนแรงต่ำมาก และแทบไม่ก่อให้เกิดการตายดังเช่นซีโรไทป์ 2 ทั้งนี้เชื้อ S.suis เอง ก็ยังช่วยเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อ HP-PRRS ให้ไปทำความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ ได้รวดเร็ว และรุนแรงขึ้นมากกว่าการติดเชื้อ HP-PRRS เพียงอย่างเดียว
        จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เชื้อสเตรปโตคอคคัส ชูอิส ทุกซีโรไทปที่มีอยู่ในฟาร์มสุกรนั้น มิใช่ปัญหาเล็กๆ ที่ก่ออาการได้ไม่รุนแรง หรือเสียหายเพียงเล็กน้อยอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการติดเชื้อร่วมกันกับ PRRS ที่หลายฟาร์มส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาเสียหาย เป็นอันตรายคุกคามต่อเศรษฐกิจ และต่อสุขภาพสุกรอยู่ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังนี้ ส่งผลให้มีอาการ ความเสียหายร่วมของทั้งสองโรค รุนแรงขึ้นหลายเท่าทวีคูณ

เอกสารอ้างอิง
Diseases of Swine 9th edition. 2006. Blackwell Publishing.
Thanawongnuwech et al., 2000. Veterinary Pathology. 37(2) : 143-152.
Xu et al., 2010. Virology Journal. 7 : 184. 9 p.

ขอบคุณวารสารโลกสุกร ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2558
พันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม....ที่ท่านต้องรู้
ผศ.น.สพ.ชาตรี  คติวรเวช
ภาควิชาสัตวบาล คณะสัตวแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        นักศึกษาคนหนึ่ง ฉลาดหลักแหลม แต่มีปัญหาครอบครัว ทะเลาะเบาะแว้งตลอด อ่านหนังสือสอบไม่ค่อยได้ พอตอนสอบทำข้อสอบไม่ได้คะแนนต่ำตลอด ในทางกลับกัน นักศึกษาอีกคนหนึ่ง ไม่ฉลาด หัวไม่ค่อยไว ไปไม่คอยรอด อาศัยลูกขยัน อ่านทบทวนก่อนสอบหลายรอบ มีคนติวให้อย่างเข้มข้น พอตอนสอบทำคะแนนได้สูงสุดมาเป็นอันดับหนึ่ง ท่านคิดว่าระหว่างนักศึกษาทั้ง 2 คนนี้ ใครเก่งกว่ากัน ท่านจะเลือกใครเข้ามาทำงานในฟาร์มของท่าน?
        การทำข้อสอบให้คะแนนสูงสุด เป็นเพียงรูปกายที่จับต้องได้ เพราะมันสามารถชั่ง ตวง วัด ให้คะแนนได้ และเป็นวิธีการคัดเลือกวิธีหนึ่งที่เป็นตัวแทนของการวัดว่าใครเก่งกว่ากัน ซึ่งจะเหมารวมความไปถึงพันธุกรรมของไอคิวที่มีอยู่ในนักศึกษาทั้ง 2 คนนั้นด้วย
        แต่จากความเป็นจริงข้างต้น ไม่มีใครทราบได้ว่าใครมีพันธุกรรมของความฉลาด หลักแหลมมากน้อยกว่ากัน การทำข้อสอบได้คะแนนสูงขึ้น เป็นเพียงลักษณะปรากฏหรือฟีโนไทป์ที่แสดงออกมาให้ทุกคนเห็น แต่อาจจะเป็นเพียงเปลือกนอกที่ถูกฉายหลอกเอาไว้
        ผมไม่ได้หมายความว่านักศึกษาคนที่ 2 ไม่ดี ทำไม่ถูกต้อง แต่ในมุมมองขณะนี้ อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทและทำให้การแสดงออกนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งในเรื่องของประเด็นการสอบ นักศึกษาแต่ละคนจะมีความพยายามสอบให้ผ่านและได้คะแนนสูงสุดเป็นที่ตั้งอยู่แล้วมีแต่ได้กับได้
        แต่การทดสอบพ่อแม่พันธุ์สุกรในฟาร์มหรือในสถานีทดสอบกลางแล้ว การคัดเลือก 5 อันดับสูงสุด (ยกตัวอย่าง) มาเป็นพ่อแม่พันธุ์ จึงมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคะแนนนักศึกษาดังกล่าวที่จะสอบตก (หมายถึงคัดเลือกผิดตัว) และสุกรที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วเป็นอย่างดี หุ่น รูปร่างสวยเลิศไร้เทียมทาน แต่ถ่ายทอดพันธุกรรมได้ยอดแย่ อันนี้ก็ถือว่าสอบตกแบบได้ที่โหล่เลยเช่นกัน
        เจ้าของฟาร์มสุกรต้องการพ่อแม่พันธุ์ชั้นเลิศเข้ามาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์สุกรภายในฟาร์ม การแสดงออกที่ให้ทุกท่านเห็นในสุกรแต่ละตัวจึงอาจจะถูกฉาบหลอกเอาไว้ ซึ่งเป็นผลของสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการแสดงออกของพันธุกรรม โดยเฉพาะลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งหลาย
        สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องจัดการและทำให้นิ่ง คงที่ภายในฟาร์มเสียก่อน นั่นจึงหมายความว่า การจะปรับปรุงพันธุ์สุกรให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการจัดการด้านอาหารและการจัดการฟาร์มให้สม่ำเสมอ คงที่และอยู่ในระดับดีจนถึงดีที่สุดก่อน
        นอกจากนั้น หากเจ้าของฟาร์มสุกรนำเข้าสุกรพ่อแม่พันธุ์ตัวเป็นๆ มาจากต่างประเทศ หากสุกรสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ การแสดงออกของพันธุกรรมจึงอาจจะถูกแสดงออกมาคล้ายๆ กับนักศึกษาคนแรก แสดงออกได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมเข้ามามีบทบาทค่อนข้างมาก อากาศที่ร้อนขึ้น อบอ้าวอาหารที่มีความแตกต่างไปจากวัตถุดิบดั้งเดิม การจัดการ การดูแลที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นผลกระทบที่ทำให้สุกรพ่อแม่พันธุ์แท้บางตัวตายได้ หรือไม่ถูกคัดเลือกมาทำพันธุ์ต่อไป
        ดังนั้น การนำเข้าพันธุ์สุกรชั้นเลิศที่ท่านคิดว่าดีที่สุดในประเทศไทย นอกจากจะได้โรคใหม่ๆ แถมมาแล้ว (จากประสบการณ์ในอดีต) สุกรชั้นดีเลิศ ดีที่สุดในระดับประเทศก็ไม่ได้ตอบโจทย์ได้แค่ศักยภาพบางอย่างที่พอถ่ายทอดและแสดงออกมาได้ระดับหนึ่งที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรก้าวหน้าไป
        แต่ท่านคิดหรือไม่ว่า ความก้าวหน้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแวดวงการเลี้ยงสุกรที่เป็นอุตสาหกรรมในบ้านเรา มีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผลมาจากพันธุกรรม ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการจัดการและอาหารที่พัฒนาขึ้น จึงทำให้การแสดงออกทางพันธุกรรมของสุกรนั้นดีขึ้นด้วย เช่นเดียวกับนักศึกษาคนที่ 2 แล้วพันธุกรรมสุกรของประเทศไทยจะดีขึ้นจริงๆ บ้างได้ไหม
        เราหวังพึ่งแต่เทคโนโลยีว่าจะมาช่วยเราในทุกๆ ด้าน เทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาช่วยและประสบความสำเร็จอย่างจริงจังมาโดยตลอด เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน อย่างนั้นหรือที่ทำให้คนเรายึดทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้เทคโนโลยีว่าคือพระเจ้าหรือเป็นคนทันสมัย สำหรับการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ทั้งหลาย คงต้องใช้วิจารณญาณกันให้มากกว่านี้ สุดท้ายทุกคนมัวแต่นั่งรอเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยเร่งให้การปรับปรุงพันธุ์สุกรเป็นไปตามความฝันที่เราฝันเพ้อเจ้อเอาไว้
        อุปสรรคสำคัญนั้นคืออะไรเล่า สิ่งนั้นคือ “สิ่งแวดล้อม” ไง ซึ่งประเทศไทยไม่เหมือนกับในทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย การนำพันธุกรรมของคนอื่นมาใช้ จึงไม่เหมือนการนำพันธุกรรมที่มีอยู่ในประเทศเรามาใช้เอง
        เปรียบเทียบเช่นเดียวกับคนไทยที่มีฝีมือด้านการทำอาหารไม่แพ้ชาติใดในโลก หากเอ่ยถึงส้มตำ แต่ให้คนต่างชาติมาตำส้มตำให้ท่านกิน จะไปรอดไหม ไม่ได้ดูถูกคนต่างชาติ แต่อยากจะสื่อว่า หากอยากกินส้มตำ ทำไมไม่ตำเอง มันก็แค่นั้น
        ในต่างประเทศไม่ได้มีอากาศแบบร้อน ชื้น ฝนตกชุกที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตรเหมือนประเทศไทย การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ของเขา จึงมุ่งหมายไปในแต่ละประเทศของเขาเอง ประสบการณ์การแก้ปัญหาของประเทศไทยจึงแตกต่างจากต่างประเทศ
        ดังนั้น การนำสิ่งใดๆ เข้ามาใช้ในประเทศไทยจึงสู้คนไทยทำเองไม่ได้ เปิดใจยอมรับ และเปิดโอกาสให้คนไทยที่รู้จริงเข้าไปพัฒนาและวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงและการปรับปรุงพันธุ์สุกรอย่างเป็นระบบ ภายใน 10-50 ปีข้างหน้า เผื่อจะมีความหวังและโอกาสที่เกิดขึ้นได้เร็วกว่า
        นอกจากนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมของแต่ละฟาร์มในประเทศไทย มีความหลากหลายและแตกต่างค่อนข้างมากมายในแต่ละพื้นที่ แล้วแต่หลักการและทฤษฎีที่ไม่เหมือนกันของเจ้าของฟาร์มแต่ละคน ความรู้และองค์ประกอบทั้งหลายจะมาช่วยขจัดสิ่งแวดล้อมให้ออกจากพันธุกรรมได้อย่างไร จึงจะสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์สุกรได้ถูกตัว ถูกที่ ถูกเวลา จึงเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับปรุงพันธุ์สุกร
        เมื่อเทคโนโลยีไม่มีคำตอบสำหรับการปรับปรุงพันธุ์สุกรในเร็ววันนี้ การเริ่มลงมือทำด้วยตัวเอง จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการปรับปรุงพันธุ์ คำตอบของการแยกสิ่งแวดล้อมออกจากพันธุกรรมที่ทุกท่านปฏิบัติได้ทันทีคือ “การจดบันทึกข้อมูลภายในฟาร์ม”  ให้ละเอียด ถูกต้อง ชัดเจนในทุกๆ แง่ทุกมุม ทุกๆ รายการ นั่นคือท่านได้จดบันทึกข้อมูลสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดยิบ ยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คัดเลือกสุกรได้ถูกตัวมากขึ้นเท่านั้น
        เมื่อข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่ท่านจดทุกอย่างนำมาวิเคราะห์ประเมินพันธุกรรมแล้ว สุกรที่ผ่านการทดสอบจึงเป็นสุกรที่มีพันธุกรรมที่ท่านต้องการ ผ่านการสอบคัดเลือกนำไปปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ผนวกกับการวางเส้นทางหรือแผนการปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์มของท่าน ขาแข็งแรง ลูกดก โตเร็ว ทนโรค ฯลฯ ในระยะเวลา 5 – 50 ปี ในระดับประเทศไทย พันธุ์สุกรที่ควรและต้องมีประกอบด้วยอะไรบ้าง ? ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้และเกิดขึ้นได้แน่นอนในปัจจุบัน
        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เริ่มที่ตัวท่านเองได้ทันที จากการเปลี่ยนแปลง และสร้างความคุ้นชินในการรักษาวินัยในการจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด ภายในฟาร์มของท่านเสียก่อน แค่นี้ง่ายๆ ท่านทำด้วยตัวเองได้และทำได้ทันที

ขอบคุณวารสารโลกสุกร ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2558
เลี้ยงสัตว์อย่างไรจึงไม่ต้องใช้ยา
รศ.อุทัย  คันโธ
ศูนย์ค้นคว้าและพัฒนาวิชาการอาหารสัตว์ และ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม

  1. คำนำ
        การเลี้ยงสุกรและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในปัจจุบันนับว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีการใช้สายพันธุ์สัตว์ที่มีสมรรถนะสูง ได้แก่ มีอัตราการเติบโตดี มีเนื้อแดงมาก มีประสิทธิภาพการใช้อาหารดีมีลูกดก รวมทั้งมีการพัฒนาการให้อาหาร การดูแลเลี้ยงดู และ การป้องกันโรคสัตว์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยจนกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์ไม่ด้อยไปกว่าประเทศที่เจริญแล้วโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์แผนใหม่มักจะประสบปัญหาสัตว์เลี้ยงมีการเจ็บป่วยง่าย ยิ่งเลี้ยงหนาแน่นมากและมีการให้อาหารมากเพื่อให้โตเร็ว สัตว์เลี้ยงยิ่งมีการเจ็บป่วยง่ายขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีในการควบคุมโรคผสมในอาหาร หรือ จำเป็นต้องใช้ยาฉีดเพื่อรักษาอาการป่วยของสัตว์หรือสุกรมากขึ้น ซึ่งก็ส่งผลให้มียาปฏิชีวนะหรือสารเคมีตกค้างในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงไก่เนื้อ มักจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก จนทำให้มียาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีป้องกันโรคตกค้างในเนื้อไก่ และมีปัญหาในการส่งออกอยู่เนืองๆ
        นอกจากนี้การใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคเนื้อสัตว์เองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลเสียของยาและสารเคมีที่ตกค้างในอาหารมากขึ้น จนกระทั่งองค์การค้าโลก (WTO) ต้องออกกฎห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกมีการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารคน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์กำลังไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างยิ่ง การเลี้ยงสัตว์ในอนาคตจะต้องลดการใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีต่างๆ หรือ หากเป็นไปได้ควรลดใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต่างๆ ในการเลี้ยงสัตว์เลย ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ปราศจากการปนเปื้อนด้วยสารเคมีแล้ว ยังเป็นการพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ให้ยั่งยืนตลอดไปด้วย

  1. การเลี้ยงสัตว์ไม่จำเป็นต้องใช้ยาได้หรือไม่
        ผู้เลี้ยงสัตว์เป็นการค้ารวมทั้งนักวิชาการในปัจจุบันยังมีการถกเถียงกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่การเลี้ยงสัตว์แผนใหม่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมี เกษตรกรบางกลุ่มที่เติบโตมากับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ก็อาจจะไม่เชื่อว่าการเลี้ยงสัตว์ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในการเลี้ยงสัตว์ เพราะเมื่อใดที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในสูตรอาหาร ตัวสัตว์มักจะเกิดอาการป่วย มีอัตราการตายสูง หรืออาจพูดได้ว่าก็เพราะยาที่ผสมในอาหาร
        อย่างไรก็ตามผู้เขียนเองได้มีประสบการณ์ในการวิจัย การฝึกอบรมเกษตรกร รวมทั้งการแก้ปัญหาในการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์บก ได้แก่ ไก่ สุกร กระต่าง ช้าง ม้า และ สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ และปลา พบว่าแท้ที่จริงแล้ว สัตว์ทุกชนิดถูกธรรมชาติสร้างขึ้นมาให้มีความสามารถในการอยู่รอดบนพื้นโลกนี้เหมือนกับมนุษย์คนเราทุกประการ ในสภาพปกติสัตว์และคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ ตลอดเวลา ทั้งน้ำและอาหารที่กิน อากาศที่หายใจ พื้นดินพื้นคอกที่คนและสัตว์อยู่อาศัยจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคต่างๆ และเชื้อโรคเหล่านี้จะเข้าไปในร่างกายและอยู่ในกระแสเลือดคนและสัตว์ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเชื้อโรคเหล่านี้จะไม่สามารถทำอันตรายต่อคนและสัตว์ได้เพราะร่างกายคนและสัตว์จะมีระบบภูมิต้านทางโรค (immunity หรือ diseases resistant) ทั้งชนิดที่เป็นโปรตีน (humoral immunity) และชนิดที่เป็นเซลล์ (cellular immunity) มาต่อสู้หรือมาต่อต้านกับเชื้อโรคชนิดต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้ไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนั้นในสภาพปกติแม้ว่าจะมีเชื้อโรคในร่ายกายคนและสัตว์ตามธรรมชาติแต่ร่างกายก็ยังมีสุขภาพดีหากระบบภูมิต้านทานโรคของร่างกายทำงานได้ตามปกตินั่นเอง แต่เมื่อใดระบบภูมิต้านทานโรคร่างกายอ่อนลง หรือไม่แข็งแรง เมื่อนั้นเชื้อโรคในร่างกายก็จะเหิมเกริมและเริ่มเป็นอันตรายต่อร่างกายทำให้ร่างกายคนและสัตว์ เริ่มมีอาการป่วยเป็นไข้ไม่สบาย หากไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะแนะนำให้คนไข้มีการพักผ่อนให้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายให้สูงขึ้นเพื่อสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายได้อีกครั้ง พร้อมทั้งมีการให้ยาหรือสารเคมี ในการกำจัดเชื้อโรคในร่างกายบางส่วนเพื่อเป็นการช่วยทำให้สภาพร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วขึ้น แต่ถ้าคนไข้กินแต่ยาอย่างเดียวแต่ไม่มีการพักฟื้นหรือพักผ่อนอย่างเพียงพอ ระบบภูมิต้านทางโรคยังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ คนไข้คนนั้นก็อาจไม่หายขาดจากอาการเป็นโรคได้ หรือคนไข้บางรายเมื่อมีอาการป่วยเป็นไข้ไม่มากนักอาจนอนพักผ่อนมากๆ แต่เพียงอย่างเดียวเพื่อกระตุ้นระบบภูมิต้านทานกลับคืนมาต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกาย ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีขึ้น โดยไม่ต้องมีการใช้ยาหรือสารเคมีในการรักษาโรคแต่อย่างใด จึงเห็นได้ว่าแท้จริงแล้วร่างกายมีระบบต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายเพื่อทำให้ชีวิตอยู่รอดอยู่แล้ว การพัฒนาระบบภูมิต้านทานโรคให้ทำงานได้เต็มที่ตามธรรมชาติทำให้ทั้งคนและสัตว์มีสุขภาพดีและอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีใดๆ ตลอดชีวิตหรือตลอดการเลี้ยงเลยก็ได้

  1. ภูมิต้านทานโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
        ภูมิต้านทานโรคในร่างกายคนและสัตว์จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติเมื่อร่างกายคนและสัตว์ได้รับเชื้อโรค จากสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายเข้าไป ภูมิต้านทานโรคของร่างกายอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ คือ
        1.  ภูมิต้านทานแบบเป็นโปรตีน (humoral immunity) ซึ่งมีลักษณะเป็นโมเลกุลของโปรตีนมีคุณสมบัติไปจับกับตัวเชื้อโรคในร่างกายทำให้เชื้อโรคไม่สามารถทำการแบ่งตัว หรือขยายตัวได้ เมื่อเซลล์เชื้อโรคหมดอายุก็ทำให้ปริมาณเชื้อโรคในร่างกายลดลง หรือหมดไปในที่สุด
        2.  ภูมิต้านทานแบบเซลล์ (cellular immunity) มีลักษณะเป็นเซลล์พิเศษที่มีคุณสมบัติในการกัดกินเชื้อโรคในร่างกาย ทำให้ปริมาณเชื้อโรคในร่างกายลดลง หรือหมดไปเช่นเดียวกัน
        การกระตุ้นระบบภูมิต้านทานทั้ง 2 ชนิด ต้องอาศัยขบวนการสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis) ในร่างกายเป็นหลัก เพราะโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานโรคต้องถูกสังเคราะห์จากขบวนการสังเคราะห์โปรตีนโดยตรง ในขณะที่การเพิ่มจำนวนเชลล์ที่เป็นภูมิต้านทางโรค ก็ต้องการสังเคราะห์โปรตีนเพื่อให้มีการแบ่งเซลล์มากขึ้นเช่นกัน หากร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนดี การสร้างภูมิต้านทานโรคทั้ง 2 ระบบก็จะดีตามไปด้วย ร่างกายคนและสัตว์จะแข็งแรงไม่ป่วยเป็นโรคง่าย แต่ถ้าร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนน้อยหรือไม่สมบูรณ์ก็จะทำให้ระบบภูมิต้านทานโรคในร่างกายอ่อนตามไปด้วยและไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายหรือในสภาพแวดล้อมได้ ทำให้สัตว์ไม่แข็งแรงและป่วยตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีต่างๆ มากอีกทั้งก่อให้เกิดปัญหาสารตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ และยังทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์สูงขึ้นด้วย ดังนั้นอาจพูดได้ว่าสุขภาพของสัตว์หรือปริมาณการใช้ยาหรือสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของภูมิต้านทานโรค ของร่างกายสัตว์ ซึ่งเป็นผลมาจากความสมบูรณ์ของการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายนั่นเอง
        การสังเคราะห์โปรตีนในร่างกายจะเกิดขึ้นได้ดีเมื่อคนและสัตว์ได้รับปัจจัยต่าง ที่สมบูรณ์ดังนี้
        1.  กรดอะมิโน 20 ชนิด  ทั้งชนิดที่จำเป็นต้องมีในอาหารและไม่จำเป็นต้องมีในอาหาร เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของโมเลกุลของโปรตีนที่เป็นภูมิต้านทานโรคหรือเป็นโปรตีนในเซลล์ต้านทานโรคของร่างกาย
        2.  ฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์ (anabolic hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนเพื่อการเติบโต (growth hormone) ฮอร์โมนอินชูลิน (insulin) และฮอร์โมนเพศ (sex hormones) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย
        3.  ไวตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะไวตามิน เอ และธาตุสังกะสี จะถูกใช้เป็นปัจจัยร่วม (co-factors) ขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย ทำให้ร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่และสมบูรณ์
        4.  พลังงาน (energy)  ซึ่งอยู่ในรูปสาร ATP เพื่อใช้เป็นพลังงานในขบวนการสังเคราะห์โปรตีนในร่างกาย สาร ATP เกิดขึ้นในร่างกายโดยมีต้นกำเนิดจากแป้งหรือน้ำตาลในอาหาร
        ตัวสัตว์ได้รับกรดอะมิโนทั้ง 20 ชนิด ไวตามิน-แร่ธาตุ (ไวตามิน เอ และธาตุสังกะสี) และพลังงาน (แป้ง, น้ำตาล) จากอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้นหากสัตว์ได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีมีคุณค่าทางอาหารข้างต้นครบตามความต้องการของสัตว์ ตัวสัตว์เองก็มีแนวโน้มที่มีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่ อีกทั้งจะมีการพัฒนาภูมิต้านทานโรคโดยธรรมชาติอย่างเต็มที่ด้วย
        ส่วนฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์นั้นโดยปกติตัวสัตว์มีการสร้างและหลั่งออกมาเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในสภาพที่สัตว์เกิดความเครียด (stress) หรือในสภาวะที่สัตว์อยู่อย่างไม่สบาย ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนประเภททำลาย (catabolic hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ฮอร์โมนกลูโคคอร์ติคอย (glucocorticoids) และฮอร์โมนอะดรีนาลิน (adrenalin) ซึ่งฮอร์โมนกลุ่นนี้จะไปยังยั้งกลุ่มฮอร์โมนประเภทสร้างสรรค์ไม่ให้ทำงาน ซึ่งก็จะมีผลทำให้การสังเคราะห์โปรตีนไม่เกิดขึ้น และส่งผลให้ภูมิต้านทานโรคของสัตว์ลดลงเช่นเดียวกัน ดังนั้นการที่สัตว์อยู่ดี คือ อยู่อย่างสบาย ไม่เครียดหรือมีความเครียดน้อยที่สุดก็จะช่วยทำให้สัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี และสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมได้
        หรืออาจพูดได้ว่า หากสัตว์เลี้ยงมีการกินดีได้รับโภชนะต่างๆ ครบถ้วนตามความต้องการ และอยู่ดีคือตัวสัตว์อยู่อย่างสบายไม่เครียด ตัวสัตว์จะแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดี สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคในสภาพแวดล้อมอีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในการเลี้ยง หรือ หากจำเป็นต้องใช้ก็จะใช้ในปริมาณน้อยที่สุด

  1. วิธีปฏิบัติเพื่อให้สัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี
        เพื่อให้ตัวสัตว์ได้รับปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็นในการสังเคราะห์โปรตีนและการสังเคราะห์ภูมิต้านทานโรคอย่างสมบูรณ์ในร่างกายสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดมีหลักการปฏิบัติโดยรวมดังนี้
        1. การให้สัตว์กินอาหารคุณภาพดี
        อาหารคุณภาพดี หมายถึง อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารต่างๆ ได้แก่ โปรตีน กรดอะมิโน ไวตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งพลังงานเพียงพอกับความต้องการของสัตว์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักส่วนหนึ่งทำให้ร่างกายมีการสังเคราะห์โปรตีนอย่างเต็มที่และตัวสัตว์มีภูมิต้านทานโรคดี นอกจากนี้อาหารควรมีการย่อยได้ดี และมีสารพิษปนเปื้อนมาน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ซึ่งจะช่วยลดความเครียดของสัตว์จากการกินอาหาร และส่งผลทำให้สัตว์มีการสังเคราะห์โปรตีนและภูมิต้านทานโรคดีขึ้นด้วย อาหารคุณภาพดีมิได้หมายความว่าจะต้องเป็นอาหารบริษัทฯ อัดเม็ดเสมอไป อาหารผสมเองที่ฟาร์มแต่มีคุณสมบัติข้างต้นครบก็สามารถทำให้เกิดการกินดีแก่สัตว์เช่นกัน หรือถ้าเป็นอาหารบริษัทฯ อัดเม็ด แต่มีคุณค่าทางอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของสัตว์ มีกากมาก อีกทั้งมีการใช้วัตถุดิบอาหารที่มีสารพิษมาก เช่น กากเมล็ดนุ่น กากเมล็ดฝ้าย กากเรปซีด อาหารนั้นก็มีคุณภาพไม่ดีและทำให้ตัวสัตว์ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้เพียงพอ และจะทำให้สัตว์มีการเจ็บป่วยตลอดเวลาด้วย
        2. การลดความเครียดในการเลี้ยงสัตว์
        ในการเลี้ยงสัตว์มักจะประสบกับปัญหาความเครียดต่างๆ มากมาย การลดแหล่งและปริมาณความเครียดที่ตัวสัตว์ได้รับให้น้อยลงจะมีผลทำให้สัตว์มีการสังเคราะห์โปรตีนเพิ่มมากขึ้น และมีการสร้างภูมิต้านทานโรคดีขึ้น การพิจารณาลดแหล่งความเครียดอาจทำได้ดังนี้
        1) โรงเรือนที่สัตว์อยู่อาศัยควรอยู่สบาย มีการรับความร้อนจากตัวสัตว์ได้ดี สัตว์อยู่แล้วสบาย ไม่หอบในช่วงอากาศร้อน แดดไม่ส่อง ฝนไม่สาด โรงเรือนที่สัตว์อยู่แล้วสบาย ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรือนราคาแพง อาจเป็นโรงเรือนฟื้นคอนกรีต หลังคามุงจาก แต่มีการออกแบบก่อสร้างอย่างถูกต้อง ก็เป็นโรงเรือนที่ดีได้ โรงเรือนพื้นคอนกรีตสแลตเลี้ยงสุกรขุน ช่วงหน้าร้อนตัวสัตว์จะหอบมาก และชักนำทำให้สัตว์ป่วยได้ง่ายก็ถือว่าเป็นโรงเรือนที่ไม่เหมาะสมตัวสัตว์มิได้คำนึงถึงราคาโรงเรือน แต่จะคำนึงถึงความสบายในการอยู่อาศัยเป็นหลัก โรงเรือนราคาถูกแต่สัตว์อยู่แล้วสบายถือว่าใช้ได้มีความเหมาะสม แม้โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ในราคาแพงแต่สัตว์อยู่แล้วไม่สบายและมีความเครียดก็ถือว่าไม่เหมาะสมที่จะใช้เลี้ยงสัตว์
        2) ความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์ ยิ่งเลี้ยงแน่นเท่าใด ตัวสัตว์จะยิ่งเครียดมาก และทำให้ตัวสัตว์มีโอกาสป่วยเป็นโรคได้ง่าย การเลี้ยงสัตว์ในเขตอากาศร้อนในโรงเรือนไม่ปรับอากาศ อาจต้องลดความหนาแน่นลงมา หรือเลี้ยงที่ความหนาแน่นน้อยกว่าเขตอากาศหนาว ก็จะช่วยลดการป่วยของสัตว์ได้มาก
        3) การเติบโตและการให้ผลผลิตของสัตว์ สัตว์ยิ่งโตเร็วหรือให้ผลผลิตมากยิ่งมีความเครียดในร่างกายมาก และมีความทนทานจากความเครียดภายนอกได้น้อยลง หากสภาพแวดล้อมภายนอกก่อให้เกิดความเครียดแกตัวสัตว์มาก การที่สัตว์โตเร็วก็จะยิ่งป่วยง่าย การลดการเติบโตหรือการให้ผลผลิตของสัตว์ลงมาเล็กน้อย จะช่วยทำให้สัตว์ลดการเจ็บป่วยลง หรือ อาจจะต้องลดสภาวะความเครียดภายนอกลงเพื่อให้สัตว์มีสุขภาพดี โดยที่ยังให้การเติบโตและผลผลิตอย่างเต็มที่
        4) สารพิษในอาหารสัตว์ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดที่สำคัญต่อสัตว์อย่างหนึ่ง สัตว์ยิ่งโตเร็วและให้ผลผลิตสูงยิ่งต้องการอาหารที่สะอาดปราศจากสารพิษต่างๆ หรือมีการปนเปื้อนสารพิษน้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยให้สัตว์ยังคงสร้างภูมิต้านทานโรคที่เพียงพอในของตัวสัตว์ให้ผลผลิตได้สูงสุด การใช้วัตถุดิบอาหารที่มีโอกาสปนเปื้อนด้วยสารพิษ เช่น ข้าวโพดที่มักมีการปนเปื้อนของสารพิษเชื้อรา ได้แก่ อะฟลาทอกซิน ซีราลีโนน ฯลฯ หรือ กากเรปซีค สารพิษกลูโคซิโนเลต เป็นองค์ประกอบต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะสัตว์เลี้ยงยุคใหม่มีความไวต่อความเครียดและไม่สามารถทนทานต่อสารพิษเหล่านี้ได้เช่นสัตว์เลี้ยงสมัยก่อนที่ให้ผลผลิตต่ำแต่มีความทนทานต่อความเครียดมากกว่า ข้าวโพดที่ใช้เลี้ยงสัตว์ยุคใหม่ต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อนด้วยสารพิษเชื้อรา จึงทำให้เลี้ยงสัตว์แล้วมีประสิทธิภาพดี ข้าวโพดที่มีการปนเปื้อนสารพิษเชื้อรามักทำให้สัตว์จะป่วยบ่อยต้องใช้ยามาก รวมทั้งอาจมีอัตราการตายสูงด้วย การใช้กาก เรปซีคในอาหารสุกรยุคใหม่ก็แนะนำให้ใช้น้อยลงหรือไม่ใช้เลย เพราะสัตว์ยุคใหม่ไม่ทนทานต่อสารพิษในอาหาร และก่อให้เกิดผลเสียเป็นอย่างมาก แม้กระทั่งใช้กาก เรปซีคเพียงเล็กน้อยในสูตรอาหาร
        5) การเลือกใช้วัตถุดิบอาหารที่มีการย่อยได้ดี เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเอ็กทรูด ฯลฯ โดยเฉพาะแป้งที่ย่อยง่ายจะช่วยลดความเครียดจากการกินอาหารของสัตว์ นอกจากนี้แป้งที่ย่อยง่ายอาจช่วยกระตุ้นการเติบโต ของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหารของสัตว์ และทำให้จุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคไม่สามารถทำอันตรายต่อ ร่างกายสัตว์ได้ ซึ่งก็เป็นการช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดีและไม่ต้องใช้ยาในการเลี้ยงทางหนึ่งด้วย ผลการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารชนิดต่างๆ พบว่าช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น และสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ไปได้มากและในหลายกรณีอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์เลย
        6) การใช้วัตถุที่เติมในอาหารที่ช่วยในการย่อย การดูดซึมสารอาหาร รวมทั้งสารที่ช่วยในการควบคุมเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ กรดอินทรีย์เอนไซม์ผสมอาหารโปรไบโอติค พรีไบโอติด ซัมไบโอติคฯลฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น และสามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีในการเลี้ยงสัตว์ลงได้มาก และในหลายกรณีไม่จำเป็นต้องใช้เลย การใช้สารดูดซับสารพิษเชื้อราในอาหาร เช่น สารกลุ่มอะลูมิโน ซิลิเกต ได้แก่ พวกสารซีโอไลท์ และเบนโทไนท์ ช่วยดูดซับสารพิษในอาหาร เช่นสารพิษอะฟลาทอกซิน รวมทั้งดูดซับก๊าซแอมโมเนีย ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดความเครียด จากการกินอาหารของสัตว์ ซึ่งก็ช่วยทำให้สัตว์มีสุขภาพดีขึ้น มีภูมิต้านทานโรคสูงขึ้นและลดการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์อย่างเห็นได้ชัด

5. สรุป
        การเลี้ยงสัตว์ยุคใหม่ต้องมีการใช้ยาและสารเคมีต่างๆ ลดน้อยลงหรือไม่ใช้เลยเพื่อให้เนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์สัตว์มีความเหมาะสมและมีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของผู้บริโภค การเลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นจะต้องพึ่งภูมิต้านทานโรคสัตว์โดยธรรมชาติที่มีในตัวสัตว์มากขึ้น เพราะภูมิต้านทานโรคสัตว์ถือว่าเป็นยาที่ดีที่สุด เนื่องจากมีความยืดหยุ่น มีความคล่องตัวและสามารถปรับตัวเข้ากับเชื้อโรคได้ทุกประเภท สัตว์จะมีการสร้างภูมิต้านทานโรคได้ดี เมื่อมีการกินอาหารที่มีคุณภาพดี และมีการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดน้อยที่สุด อยู่สบายซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่าหากภูมิต้านทานโรคของสัตว์ทำงานอย่างเต็มที่แล้วนอกจากสัตว์จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคง่ายไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หรือ สารเคมีในการเลี้ยง เนื้อสัตว์มีคุณภาพดี ไม่มีสารตกค้าง เนื้อมีรสชาติดีขึ้นด้วยแล้ว ต้นทุนการเลี้ยงสัตว์นั้นยังต่ำด้วย และเป็นหนทางในการเลี้ยงสัตว์ แบบยั่งยืนในอนาคต

ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกร
โดย รศ.น.สพ.ดร.เผด็จ  ธรรมรักษ์ 
ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

        ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกรในเมืองไทย ปัญหาหลักคือ สุกรไม่ยอมแสดงอาการเป็นสัด หรือไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อถึงอายุ และเป็นสัดเงียบ นอกจากโรคภัยไข้เจ็บจะทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวแล้ว สภาพดินฟ้าอากาศยังมีผลโดยตรง
        รศ.น.สพ.ดร.เผด็จ  ธรรมรักษ์  ภาควิชาสูติศาสตร์ เธนุเวชวิทยาและวิทยาการสืบพันธุ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเรื่อง “ปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกร” ในรายการสัตวแพทย์สนทนา ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU RADIO FM 101.5 MHz, ว่า
        สุกรเพศผู้ทำหน้าที่ผลิตน้ำเชื้อ อายุ 6-7 เดือนเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ สามารถฝึกเป็นพ่อพันธุ์ได้เป็นขั้นเป็นตอน จนอายุ 1 ปีเต็มจะสามารถทำงานได้เต็มที่ คือ สามารถผลิตน้ำเชื้อ และนำน้ำเชื้อ มาใช้ในการผสมเทียม และผสมธรรมชาติหรือผสมจริงซึ่งวันนี้มีน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นการผสมเทียมเกินกว่า 90%
        ในส่วนตัวเมียอายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ 6 เดือนขึ้นไป โดยสุกรสาวทดแทนน้ำหนักจะประมาณ 100 กิโลกรัม เมื่อรับสุกรสาวทดแทนเข้ามาจะใช้สุกรตัวผู้กระตุ้นให้สุกรสาวแสดงอาการเป็นสัด
        การแสดงอาการเป็นสัดครั้งแรกเป็นการแสดงการยอมรับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ โดยจะยืนตัวเกร็ง ยอมให้ตัวผู้ขึ้นทับบนหลัง หรือยอมให้คนขึ้นไปนั่งขี่ได้ อาการนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออายุ 6-7 เดือน ซึ่งต้องสังเกต และดูแลโดยผู้ที่มีประสบการณ์ จึงจะตรวจจับอาการได้ เมื่อพบอาการเช่นนี้ให้ทำการจดบันทึกการเป็นสัดครั้งแรกไว้ก่อน
        ทั้งนี้ ตามหลักวิชาการจะยังไม่แนะนำให้เกษตรกรผสมพันธุ์สุกร เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ว่าการผสมพันธุ์ตั้งแต่เป็นสัดครั้งแรก สุกรจะให้ผลผลิตที่ไม่ค่อยดีนัก อัตราการผสมติดไม่ดี ที่สำคัญคือลูกไม่ดก สุกรจะแสดงอาการเป็นสัด 2-3 วันโดยเฉลี่ย แล้วจากช่วงอาการการเป็นสัดสิ้นสุดลง 20-21 วัน สุกรจะกลับมาเป็นสัดอีก นี่คือ 1 รอบการเป็นสัดครบ 1 ระยะ
        “ก่อนหน้าที่จะเป็นสัดหรือยืนนิ่ง ตัวเมียจะแสดงอาการนำมาก่อน โดยจะกระวนกระวาย บางครั้งพบว่าเริ่มเบื่ออาหาร ที่สำคัญเห็นตัวผู้เดินมาจะแสดงท่าทางสนใจ เราจะทำการทดสอบอาการอย่างใกล้ชิดทั้งเช้าและเย็นจนกระทั่งพบว่าสุกรเริ่มยืนนิ่งยอมรับการผสม ทันทีที่พบอาการนี้จะกำหนดระยะเวลาการผสมพันธุ์ ถ้าผสมธรรมชาติให้นำตัวผู้เข้าไปอยู่รวมกับตัวเมียให้ขึ้นผสมได้ แต่เนื่องจากตัวผู้มีความก้าวร้าวอาจจะเกิดอันตรายกับผู้เลี้ยงได้ ปัจจุบันนิยมผสมเทียมโดยนำน้ำเชื้อผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นน้ำเชื้อเพื่อใช้ในการผสมเทียม” รศ.น.สพ.ดร.เผด็จกล่าว
        รศ.น.สพ.ดร.เผด็จกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาทางระบบสืบพันธุ์สุกรที่พบจากการทำวิจัยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ สุกรไม่ยอมแสดงอาการเป็นสัด หรือยังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อถึงอายุ โดยไม่มีท่าทียอมรับการผสม สัตว์บางตัวไม่แสดงอาการเป็นสัด แต่มีการตกไข่ มีการทำงานของระบบสืบพันธุ์โดยไม่แสดงอาการเป็นสัดให้เห็น เรียกว่าการเป็นสัดเงียบ
        สาเหตุที่เกี่ยวข้องหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องโรค คือ ดินฟ้าอากาศ เมืองไทยอากาศค่อนข้างอบอ้าว ฝนตกบ่อย ความชื้นสูง อุณหภูมิสูง เกินกว่า 30 องศาเซลเซียส จะเป็นผลทางลบกับการแสดงอาการเป็นสัดของสุกร เพราะฉะนั้นเมืองไทยจะพบปัญหาการไม่แสดงอาการเป็นสัดค่อนข้างมาก
        นอกจากนั้นกลุ่มที่แสดงอาการเป็นสัดปกติแล้วสามารถผสมพันธุ์ได้ แต่ผสมไม่ติด ผสมไปแล้วสุกรแสดงอาการเป็นสัดกลับมาภายใน 20 วัน ซึ่งเรียกว่ากลับสัดตรงรอบ บางครั้งเหมือนผสมติดสุกรไม่แสดงอาการเป็นสัดใหม่ภายใน 20 วัน แต่เมื่อผ่านไป 30-40 วันกลับมาเป็นสัด เรียกว่าการกลับสัดไม่ตรงรอบ ซึ่งจะมีการตั้งสมมุติฐานว่ามีการผสมติด มีการปฏิสนธิของอสุจิกับไข่แต่อาจจะไม่แข็งแรง หรือมีจำนวนตัวอ่อนน้อย ทำให้สัตว์ตัวนั้นไม่สามารถตั้งท้องได้เป็นปกติ ทำให้ฟาร์มเสียวงรอบการผลิตไป
        จากปัญหาข้างต้น มีการทดสอบ โดยทำการเช็คประวัติชั่งน้ำหนักเป็นรายตัว และทำการเก็บการเก็บอุจจาระมาตรวจหาฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนซึ่งจะทำให้ทราบว่าสุกรตัวนั้นตกไข่หรือยัง ซึ่งก่อนที่จะตกไข่จะไม่พบฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนในเลือดหรืออุจจาระเลย ซึ่งฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรนตรวจได้ทั้งในเลือดอุจจาระ ตลอดจนสิ่งคัดหลั่งน้ำลาย ปัสสาวะ
        มีการทำวิจัยดังกล่าว 2 ปี ซึ่งก็ได้คำตอบว่าสุกรเพศเมียพันธุ์นิยมเลี้ยงมากที่สุดในประเทศไทยคือลูกผสมระหว่างแลนด์เรซกับยอร์กเซียร์ จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 194 วัน ถ้าสุกรเป็นสัดหลังจากนี้มีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติมากขึ้น จะนำมาซึ่งการคัดทิ้งก่อนเวลาอันสมควร
        ขั้นตอนแรกที่แนะนำให้เกษตรกรแก้ปัญหา คือ การจดบันทึกประวัติของสุกรสาวแต่ละตัวเมื่อเข้ามาถึงฟาร์มต้องรู้อายุที่แน่นอน ซึ่งแนะนำให้สุกรสาวสัมผัสพ่อที่อายุ 160-165 วัน เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุด หากสัมผัสพ่อช้าก็จะทำให้การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ช้าด้วย
        นอกจากนี้เกษตรกรต้องคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีคุณภาพในการกระตุ้นการเป็นสัด มีการวิจัยที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสุกรเพศเมีย เลือกตอบสนองสุกรเพศผู้แต่ละตัวไม่เท่ากัน การทดลองในออสเตรเลียยืนยันว่าการใช้พ่อตัวเดิมตัวเดียวตรวจการเป็นสัด หรือสัมผัสตัวเมียต่อเนื่อง ใน 100 ตัว จะพบ 10-20 ตัวไม่ตอบสนองเลย เมื่อเปลี่ยนพ่อตัวเมียที่ไม่ตอบสนอง กลับตอบสนอง และเมื่อเพิ่มพ่อเข้าไปสัดส่วนตัวเมียที่ตอบสนองต่อตัวผู้จะมากขึ้น
        สำหรับขบวนการตรวจสอบการเป็นสัดในต่างประเทศมีการออกแบบโรงเรือนเพื่อให้ตัวเมียเดินไปหาตัวผู้ ตัวผู้ยืนเฉยๆ 4-5 ตัว ยืนล้อมรอบตัวเมีย ตัวเมียยืนอยู่ตรงกลาง การทำเช่นนี้มีประสิทธิภาพสูงมากในการเหนี่ยวนำ หรือกระตุ้นการเป็นสัดในตัวเมีย ซึ่งเมืองไทยไม่ลงทุนในตรงนี้ มองว่าไม่เห็นผลประโยชน์ที่จะได้โดยตรง
        สำหรับปัญหาในการคลอดขึ้นอยู่กับการเตรียมสุกรสาวตั้งแต่เริ่มต้น ต้องมีการชั่งน้ำหนัก ประเมินว่าตัวใหญ่พอที่จะเป็นแม่แล้วหรือยัง เพราะสุกรคลอดลูกครั้งหนึ่ง 10-15 ตัวโดยเฉลี่ย ซึ่งจะต้องเลี้ยงลูกต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ ร่างกายต้องมีความพร้อมมาก ต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวในช่วงเริ่มผสมพันธุ์ ในต่างประเทศแนะนำให้ผสมที่น้ำหนัก 160 กิโลกรัมขึ้นไป
        ในขณะที่เมืองไทยยังไม่ให้ความสำคัญมากนักในเรื่องน้ำหนักตัวในการผสมครั้งแรก บางฟาร์มผสมสุกรที่น้ำหนักตัวไม่มาก ซึ่งจะมีปัญหาการคลอดตามมา เพราะสุกรที่น้ำหนักไม่มากเชิงกรานจะแคบถ้าลูกในท้องตัวใหญ่ก็จะมีปัญหาคลอดยาก คลอดไม่ออก เป็นปัญหาทางสรีระ ซึ่งปัญหาในลำดับถัดไปเมื่อคลอดออกมาแล้ว ปริมาณน้ำนมอาจจะไม่เพียงพอ
        ในส่วนของปัญหาพ่อพันธุ์ พ่อพันธุ์เลี้ยงไว้เพื่อผลิตน้ำเชื้อเพื่อผสมเทียม สาเหตุหลักที่จะหยุดใช้หรือคัดทิ้งพ่อพันธุ์คือ ไม่สามารถรีดน้ำเชื้อได้ มีความสามารถในระบบสืบพันธุ์ต่ำ โดยพ่อพันธุ์ที่มีความกำหนัดต่ำๆ จะไม่ขึ้นดัมมี่ ซึ่งก็จะรีดน้ำเชื้อไม่ได้
        นอกจากนี้ ยังพบว่าคุณภาพน้ำเชื้อไม่ดี และยังพบปัญหาเรื่องขา ขาเจ็บ ข้ออักเสบ ขาอักเสบ กีบเจ็บ เนื่องจากต้องรับน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ไม่สามารถทำงานได้ปกติ ในต่างประเทศมีการควบคุมน้ำหนักพ่อพันธุ์อย่างเข้มข้น ไม่ให้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ซึ่งจะสามารถยืดอายุการใช้งานของพ่อพันธุ์ได้
        รศ.น.ส.พ.ดร.เผด็จ กล่าวต่อว่า เนื่องจากวันนี้การผสมเทียมเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการผลิตสุกร เพราะฉะนั้นความสำคัญของพ่อสุกรมากขึ้นจากเดิมที่เลี้ยงพ่อสุกร 1 ตัวต่อแม่สุกร 15-20 ตัว ปัจจุบันพ่อสุกร 1 ตัว จะใช้น้ำเชื้อเพื่อผสมเทียมสามารถควบคุมดูแลแม่สุกรได้ถึง 100 ตัว เช่นฟาร์มขนาด 1,000 แม่ มีพ่อสุกร 10 ตัวก็เพียงพอกับการผลิตน้ำเชื้อ
        สิ่งที่ต้องทำในการรีดน้ำเชื้อคือการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อหลังรีด เริ่มจากการตรวจด้วยตาเปล่า น้ำเชื้อที่ออกมาต้องมีปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉลี่ยพ่อพันธุ์สามารถหลั่งน้ำเชื้อได้ครั้งหนึ่งประมาณ 250 ซีซี บางตัวถึง 400 ซีซี นอกจากนี้ต้องดูลักษณะทั่วไป เช่น สีต้องมีสีขาว
        และมีความจำเป็นต้องส่งน้ำเชื้อที่รีดได้ไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการวิ่งได้ของน้ำเชื้อ โดยน้ำเชื้อต้องวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างน้อย 60% ถึงจะอยู่ในเกณฑ์ ถ้าวิ่งได้ 80% ขึ้นไปคุณภาพดีมาก ถ้าต่ำกว่า 60% ไม่เหมาะสมที่จะนำมาผสมเทียม
        นอกจากนี้ต้องมีการสุ่มตัวอย่างเก็บน้ำเชื้อแต่ละครั้งมาย้อมสีตรวจรูปทรงของตัวอสุจิ ซึ่งการตรวจจะบ่งชี้พยาธิสภาพของพ่อสุกรตัวนั้น เพราะฉะนั้นการทำในลักษณะนี้จะทำให้สามารถติดตามคุณภาพได้ ซึ่งทันทีที่เห็นความผิดปกติก็ทำการรักษาให้เหมาะสม เพื่อให้พ่อพันธุ์ สามารถผลิตน้ำเชื้อที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง
        รศ.น.ส.พ.ดร.เผด็จ กล่าวต่อว่า การผสมเทียมเกิดขึ้นมากว่า 50 ปีแล้ว ขบวนการผสมเทียมทำให้เราสามารถเก็บรักษา หรือยืดอายุการใช้งานของน้ำเชื้อได้หลังจากการหลั่งได้ 3-5 วันอย่างน้อย แต่ถ้าใช้น้ำยาละลายคุณภาพดีจะสามารถเก็บน้ำเชื้อได้ 1-2 สัปดาห์ ทำให้น้ำเชื้อที่ผลิตได้แต่ละครั้งมีอายุการใช้งานที่นานขึ้น
        สำหรับข้อดีของการผสมเทียมที่เห็นได้ชัดคือ ลดการนำโรคจากพ่อสู่แม่ ลดความเสี่ยงจากความก้าวร้าวของพ่อสุกรลง และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเชื้อให้คุ้มค่ามากขึ้น
        สำหรับน้ำเชื้อแช่แข็ง จะทำให้เก็บน้ำเชื้อได้นานเป็นปี ในต่างประเทศมีการวิจัยเรื่องน้ำเชื้อแช่เข็งในพ่อสุกรมามากกว่า 20 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เพราะโดยธรรมชาติแล้วน้ำเชื้อของพ่อสุกรมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ช็อคง่าย ตายง่าย การผสมเทียมที่เกิดจากน้ำเชื้อแช่แข็งในพ่อสุกรไม่ค่อยดีนัก
        การผสมโดยใช้น้ำเชื้อสด หรือผสมธรรมชาติ จะมีอัตราการผสมติดสูงถึง 85-90% ส่วนน้ำเชื้อแช่แข็งมีอัตราการผสมติด 40-50% เท่านั้น ทำให้อุตสาหกรรมการผสมเทียมทั้งโลกยอมรับน้ำเชื้อสดมากกว่าน้ำเชื้อแช่แข็ง
        แต่ก็ยังมีความพยายามหาแนวทางในการแช่แข็งน้ำเชื้อสุกรให้มีประสิทธิภาพดีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งหลายๆ ขั้นตอนการทดลองทำให้น้ำเชื้อแช่แข็งสุกรดีขึ้น ล่าสุดมีอัตราการผสมติดสูงถึง 70% ลูกต่อครอกประมาณ 8-9 ตัว ซึ่งถือว่าดีกว่าที่ผ่านมา แต่ยังไม่ดีเท่ากับการใช้น้ำเชื้อสดหรือการผสมธรรมชาติ ยังมีช่องว่างให้เราค่อยๆ พัฒนาต่อไป ซึ่งในอนาคตหวังว่าน้ำเชื้อแช่แข็งสุกรจะเข้ามาทดแทนน้ำเชื้อสดได้ดีขึ้น
        สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดทิ้งพ่อแม่พันธุ์มี 2 เรื่อง คือ คัดทิ้งตามเกณฑ์ที่ควรจะคัดทิ้ง หรือคัดทิ้งตามอายุ แม่สุกรโดยทั่วไปจะให้ผลผลิตดีที่สุดในช่วงท้อง 3-5 เมื่อถึงท้อง 5 จะมีการประเมินผลผลิต เมื่อถึงท้อง 6 จะเริ่มทยอยคัดทิ้ง สำหรับพ่อพันธุ์อาจจะอยู่ได้ 3-5 ปี หลังจากนั้นจะดูคุณภาพน้ำเชื้อว่าอยู่เกณฑ์คงที่หรือเริ่มลดลง ถ้าลดลงจะทยอยคัดทิ้ง
        มีงานวิจัยเกี่ยวกับการคัดทิ้งพ่อแม่พันธุ์ก่อนวัยอันสมควร ระบุว่าสำหรับปัญหามาจากระบบสืบพันธุ์เป็นอันดับ 1 ปัญหาขาเจ็บเป็นอันดับ 2 สำหรับปัญหาจากระบบสืบพันธุ์แยกย่อยเป็นหลายสาเหตุ เช่น มดลูกเป็นหนอง แท้ง ผสมติดยาก เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยๆ
        สำหรับโรคที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ได้แก่ PRRS ทำให้เกิดการแท้ง โดยเฉพาะการแท้งระยะท้าย ทำให้สุขภาพแม่ไม่ดีผสมติดยาก ในขณะที่พ่อพันธุ์ไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าติดโรคนี้ก็สามารถส่งผ่านโรคไปทางน้ำเชื้อทำให้ตัวเมียติดโรคได้
        โรคพาร์โวไวรัส ทำให้ตัวอ่อนตายจนถึงคลอด, โรคเซอร์โคไวรัส ไทป์ 2 ทำให้เกิดการตายของตัวอ่อน ถ้ารุนแรงจะทำให้เกิดการแท้งได้
        โรคเหล่านี้เป็นไวรัส การป้องกันแนะนำให้เกษตรกรทำวัคซีนป้องกันโรค ทั้งนี้ต้องมีการเจาะเลือดตรวจสำรวจโรคอย่างสม่ำเสมอ เพราะไม่มีวัคซีนใดที่ได้ผล 100% ซึ่งสุกรที่เลี้ยงเป็นกลุ่มใหญ่ผลการทำวัคซีนคาดเดายาก
        ทั้งนี้ต้องมีการเข้มงวดมาตรการการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เข้มงวดกับรถขนสุกร และไม่ให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์มหรือสัมผัสตัวสุกร เพื่อลดความเสี่ยง