สเตรปโตคอคคัส ซูอิส อย่าคิดว่าเรื่องเล็ก
โดย น.สพ.ยุทธพล เทียมสุวรรณ
Technical Manager M G PHARMA Co., Ltd.
ไม่ทันไรก็จะผ่านพ้นหน้าฝนไปแล้ว ปีนี้หน้าหนาวอาจมาเร็วขึ้น แต่จะหวานมากน้อย คงขึ้นกับสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงของปีนี้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ
ช่วงปลายฝนต้นหนาว ชาวเกษตรกรเลี้ยงหมูควรเตรียมตัวรับมือกับปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในช่วงเปลี่ยนฤดู ซึ่งก่อความสูญเสียอย่างมากในสุกรอนุบาล หรือสุกรเล็ก ด้วยปัญหาอาการชัก ร่วมกับลักษณะข้อต่อบวมอักเสบ หลายคนเคยเจอ หรือรู้สึกกันดีแล้ว ว่าคงหนีไม่พ้นติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส(Streptococcus suis; S.suis)
เชื้อนี้ยังมีความสำคัญทางการสาธารณสุข เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้ รู้จักกันในชื่อ ไข้หูตับ ซึ่งรุนแรงถึงขั้นโคม่า และเสียชีวิตได้
เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก รูปร่างทรงกลม หรือรูปไข่ อยู่เป็นคู่หรือต่อกันเป็นสายยาว ปัจจุบันพบมากกว่า 35 ซีโรไทป์ ที่แยกได้จากสุกรส่วนใหญ่เป็นซีโรไทป์ 1-9 อาจแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้อีก ที่สำคัญคือ group D ซึ่ง type 1 ก่อโรคในช่วงสุกรดูดนม และ type 2 ที่มีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยก่อให้เกิดความเสียหายในช่วงสุกรอนุบาล และสุกรขุน รวมถึงมีรายงานก่อโรคในคนบ่อยๆ ส่วน group C, E และ L ก่อโรคที่รุนแรงน้อยกว่า
พบเชื้อได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิด สุกรเป็นแหล่งเก็บกักเชื้อที่สำคัญโดยไม่แสดงอาการป่วย มักพบเชื้ออาศัยอยู่ในโพรงจมูก ทอนซิล ต่อมน้ำลาย และช่องคลอด ทำให้ลูกสุกรเกิดใหม่มักได้รับเชื้อถ่ายทอดมาจากแม่ แต่ในปริมาณน้อย ไม่ทำให้ป่วย แถมยังมีข้อดีที่กระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้อีกด้วย
จากนั้นหากสุกรเจ็บป่วย หรือเกิดความเครียด จะส่ง ผลให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดต่ำลง จนกลไกที่คอยควบคุมมิให้เชื้อแบ่งตัวมากเกินไปทำงานได้ไม่ดี เชื้อที่มีอยู่ในร่างกายจึงแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น ร่วมกับจะไวติดรับเชื้อจากภายนอกได้ง่าย สุกรจึงแสดงอาการป่วยเป็นโรค โดยปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญนี้ได้แก่ ภาวะที่กด หรือลดระดับภูมิคุ้มกันโดยตรง เช่น สารพิษเชื้อรา สาร LPS จากเชื้อ E.coli โรค PRRS โรคเซอร์โคไวรัส ส่วนทางอ้อม ได้แก่ ความเครียดจากการขนย้าย รวมฝูงใหม่ เปลี่ยนคอกที่อยู่ เปลี่ยนอาหาร ในช่วงหลังหย่านมลงอนุบาล หรือลงขุน ดังจะเห็นได้ว่ามักเป็นโรค และแสดงอาการในช่วงนี้พอดี ร่วมกับสภาพการเลี้ยงที่หนาแน่น การเลี้ยงปนกันหลายอายุ อากาศที่หมุนเวียนไม่ดี ร้อน หนาว ฝนสาด ชื้น มีฝุ่น แก๊สแอมโมเนียสูง ยิ่งหากฟาร์มมีสุขศาสตร์ที่ไม่ดี ปล่อยมีเชื้อหมักหมก ตัดเขี้ยวตัดหางสกปรก สุกรก็จะมีโอกาสติดเชื้อ เป็นโรคมากขึ้นตามไปด้วย
และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อ S.suis ในลูกสุกรที่มาก และเป็นเวลานาน จะทำให้ไปฆ่าเชื้อที่ได้รับมาจากแม่สุกรจนหมดสิ้น ร่างกายจึงไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันปกป้องโรค ต่อ เมื่อไปสัมผัสเชื้อครั้งแรกในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จึงก่ออาการป่วยที่รุนแรง หรือเกิดเป็นโรคระบาดได้
สุกรจะมีไข้สูง 40-42 C ซึม ตัวสั่น ขาเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน กล้ามเนื้อกระตุก ชักเหยียดเกร็งหลังแอ่น นอนตะกุยเท้า อัมพาต กรอกตาไปมา สูญเสียการมองเห็น หูหนวก ภาวะโลหิตเป็นพิษ ผิวหนังสีแดงปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบมีหนอง อาจตายเฉียบพลันในตัวที่อ้วนสมบูรณ์ดี หากเรื้อรังมักพบเดินขากระเผลก จากข้อต่อบวมร้อนอักเสบแบบมีหนอง ขาแข็ง เจ็บปวดไม่อยากลุกเดิน พบลิ้นหัวใจอักเสบ แม่พันธุ์แท้งลูกมักสับสนกับโรคแกลสเซอร์
จากที่กล่าวมาเห็นได้ว่า การแก้ไข หรือควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อ S.suis ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิธีจัดการที่เปลี่ยนได้ยากในแต่ละฟาร์ม ซ้ำยังมีโรค PRRS มาเป็นปัจจัยส่งเสริม ดังเช่นการศึกษาของ Thanawongnuwech และคณะ ในปี 2000 รายงานว่าลูกสุกรที่ติดเชื้อ PRRS จะมีอุบัติการณ์ และความรุนแรงของโรคติดเชื้อ S.suis เพิ่มสูงมากขึ้น
ลูกสุกรอายุ 3 สัปดาห์ จำนวน 80 ตัว กลุ่มที่ได้รับเชื้อ PRRS สายพันธุ์รุนแรง ร่วมกับเชื้อ S.suis ซีโรไทป์ 2 จะมีอัตราการตายสูงที่สุดถึง 87.5% ส่วนกลุ่มที่ได้รับเชื้อร่วมกับ PRRS สายพันธุ์อ่อน จะมีอัตราการตาย 37.5% และกลุ่มที่ได้รับเพียงแค่เชื้อ S. suis จะมีอัตราการตายเพียง 14.3% ส่วนกลุ่มที่ได้รับเพียงเชื้อ PRRS จะไม่พบอัตราการตายเลย
ให้ผลเช่นเดียวกับ % การเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบและเชื้อ S. suis ที่แยกได้จากเนื้อเยื่อ อันเนื่องมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาจที่เรียกว่า PIM ซึ่งทำหน้าที่สำคัญในการกำจัดเชื้อแบคทีเรียออกจากกระแสโลหิตนั้น ถูกทำลายโดยเชื้อไวรัส PRRS ทำให้ลดประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อ S. suisออกจากกระแสโลหิต เมื่อติดเชื้อร่วมกันจึงแสดงอาการรุนแรงมาก โดยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ PRRS ร่วมด้วย
ในการศึกษาเดียวกันนี้ยังพบอีกว่า อาการทางคลินิกของโรค PRRS อันได้แก่ มีไข้สูงเป็นเวลานาน และอาการระบบทางเดินหายใจผิดปกติ ในสุกรที่ติดเชื้อร่วมกันจะมีอุบัติการณ์สูงกว่า และรุนแรงมากกว่าที่ติดเชื้อ PRRS หรือ S. suis เพียงอย่างเดียว โดยตรวจพบไวรัส PRRS ในสุกรที่ติดเชื้อร่วมกันได้มากกว่าถึง 71.4% ในขณะที่สุกรติดเชื้อ PRRS เพียงอย่างเดียวจะตรวจพบไวรัสได้เพียง 38.5% ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากเชื้อ S. suis ช่วยกระตุ้น หรือเอื้ออำนวยสภาพเหมาะสมให้เชื้อ PRRS เพิ่มจำนวน และคงอยู่ได้ยาวนาน
Table 1 Mortality and morbidity rates of each group (ตามภาพประกอบ)
ดังนั้นในการควบคุมปัญหา สเตรปโตคอคคัส ชูอิส โดยคำนึงแค่เรื่องการจัดการฟาร์ม สุขศาสตร์ และการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ คงไม่เพียงพอแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงเรื่องสถานภาพ การจัดการ และควบคุมโรค PRRS ร่วมด้วยเสมอ ในทางกลับกันหากต้องการควบคุม หรือแก้ไขปัญหาโรค PRRS ให้ได้ผลดียั่งยืน นอกจากวัคซีนจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีเหมาะสมแล้ว เราก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการควบคุมเชื้อแบคทีเรีย ที่มักติดร่วมกัน หรือแทรกซ้อนตามมา ดังเช่น สเตรปโตคอคคัส ชูอิส นี้ร่วมด้วยเสมอ คำสอนซุนวูที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คงเปรียบได้กับปัญหาที่ท่านกำลังจะเจอในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ หากมีความรู้เข้าใจแล้วไซร์ ก็คงไม่ยากที่จะรับเมืออีกต่อไป สเตรปโตคอคคัส ชูอิส ก็คงเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ตามที่คิดไว้แต่แรก....!!!
เช่นเดียวกับมัยโคพลาสมา ยืนยันผลด้วยการศึกษาของ Xu และคณะ ในปี 2010 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของเชื้อ HP-PRRS ในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2006 พบว่าการติดเชื้อร่วมกันระหว่าง HP-PRRS และ S.suis ก่อให้เกิดความเสียหาย และอาการทางคลินิกที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น อัตราการตายเพิ่มสูงขึ้นจาก 16.7% เป็น 80% เชื้อ HP-PRRS มีผลทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ให้ไวรับต่อเชื้อ S.suis และแพร่กระจายไปได้ทั่วทุกอวัยวะ ในเวลาอันรวดเร็วมากขึ้น ก่อเกิดอาการที่รุนแรงกว่าเดิม
แม้ว่าซีโรไทป์ 7 ที่พบในการระบาด และใช้ศึกษาครั้งนี้ จะเป็นชนิดที่มีความรุนแรงต่ำมาก และแทบไม่ก่อให้เกิดการตายดังเช่นซีโรไทป์ 2 ทั้งนี้เชื้อ S.suis เอง ก็ยังช่วยเพิ่มการแพร่กระจายของเชื้อ HP-PRRS ให้ไปทำความเสียหายต่ออวัยวะต่างๆ ได้รวดเร็ว และรุนแรงขึ้นมากกว่าการติดเชื้อ HP-PRRS เพียงอย่างเดียว
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เชื้อสเตรปโตคอคคัส ชูอิส ทุกซีโรไทปที่มีอยู่ในฟาร์มสุกรนั้น มิใช่ปัญหาเล็กๆ ที่ก่ออาการได้ไม่รุนแรง หรือเสียหายเพียงเล็กน้อยอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากการติดเชื้อร่วมกันกับ PRRS ที่หลายฟาร์มส่วนใหญ่ยังคงประสบปัญหาเสียหาย เป็นอันตรายคุกคามต่อเศรษฐกิจ และต่อสุขภาพสุกรอยู่ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือเรื้อรังนี้ ส่งผลให้มีอาการ ความเสียหายร่วมของทั้งสองโรค รุนแรงขึ้นหลายเท่าทวีคูณ
เอกสารอ้างอิง
Diseases of Swine 9th edition. 2006. Blackwell Publishing.
Thanawongnuwech et al., 2000. Veterinary Pathology. 37(2) : 143-152.
Xu et al., 2010. Virology Journal. 7 : 184. 9 p.
ขอบคุณวารสารโลกสุกร ฉบับที่ 154 ตุลาคม 2558