06 กรกฎาคม 2561

เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพกองทุนประกันสังคม

ผมจะเล่าเรื่อง #เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพกองทุนประกันสังคม สักนิด! ตั้งแต่เค้าแจ้งเงินชราภาพเป็นตัวหนังสือไปถึงมือทุกคนเมื่อเดือนที่แล้ว ทำเอาเพื่อนผมหลายคนตกใจ เพราะเพิ่งแจ้งเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งประกันสังคม หลายคนถามว่าไปรับเงินคืนเลยได้ไหม เพื่อนๆใช้เวลาอ่านแค่ 5 นาที จะจำได้ไปอีกนาน.... เอาสั้นๆ น่ะ #เจ็บคอ
#บำเหน็จ กับ #บำนาญชราภาพ
.
1.คนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 31 ธค.41 จะได้เงินบำเหน็จบำนาญทุกคน
.
2.ใครจะได้บำเหน็จ ใครจะได้บำนาญ ขึ้นอยู่กับ #จำนวนงวด ของการส่งเงินสมทบ ถามว่าเลือกได้หม้าย ตอบว่า #เลือกไม่ได้
.
3.คนที่ส่งเงินสมทบ 1-179 งวด #ได้เงินบำเหน็จ (เงินก้อนคราวเดียวเลิกกัน ตอนแก่ตัวใครตัวมัน)
.
4.คนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 งวดขึ้นไป #ได้เงินบำนาญ (เงินรายเดือนตลอดชีวิต)
.....
......
180 งวด #มาจากไหน
ทุกเดือนที่นำส่งเงินสมทบจะนับให้ 1 งวด ไม่ว่าจะต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ขาดบ้าง ส่งบ้าง ไม่เป็นไร เอาใส่เข่งรวมๆ มานับกัน #ตอนชรา
.....
..........
ได้รับบำเหน็จบำนาญ #เมื่อใด
มี 2 เงื่อนไข #ย้ำว่าต้อง2เงื่อนไข
1.ออกจากงาน
2.อายุเกิน 55 ปี
ถามว่า #ออกจากงานแล้ว แต่อายุไม่ถึง 55 ปี เบิกได้ไหม ตอบ เบิกไม่ได้
ถามว่า #อายุเกิน 55 ปีแล้ว แต่ยังทำงานอยู่ เบิกได้ไหม ตอบ เบิกไม่ได้
แล้วถามว่าแจ้งมาทำไหรตอนนี้
ตอบว่า #แจ้งเพื่อทราบ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า #ชราภาพ เพราะงั้นต้องชราๆๆแต่ชราของประกันสังคมเริ่มที่ 55ปี
....
........
สมมุติ ผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างต่อเดือนเกิน 15,000 บาทมาตลอด ออกจากงานตอนเกษียณอายุ 60 ปี ส่งเงินสมทบมาทั้งสิ้น 35 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละเท่าใด และหากเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังจากรับบำนาญจะได้อะไร
1. ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ คำนวณดังนี้
= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%
= 20 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ทุกรอบปี) × 20 ปี ) = 30%
รวมอัตราเงินบำนาญ 35 ปี = 20% + 30% = 50%
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน
= 50% ของ 15,000 บาท
= 7,500 บาท/เดือน #ตลอดชีวิต

2. กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้วเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
= 7,500 บาท × 10 เท่า
= 75,000 บาท
.....
....
ถามต่ออีกว่า บำเหน็จกับบำนาญ อะไรคุ้มกว่ากัน ผมขอบอกเลยว่า #บำนาญคุ้มที่สุด
ผมไม่เล่าตามหลักวิชาการนะครับฟังแล้วเวียนหัว ขอเล่าตาม #หลักเศษฐศาตร์ก็แล้วกัน เข้าใจง่ายดี
#ตัวอย่าง
ถ้าประกันตนข้างต้นอายุยืนสัก 85 ปี และรับบำนาญตั้งแต่อายุ 60 ปี มาคำนวณกันว่า
#เค้าจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมกี่บาท
#แล้วกองทุนฯ ต้องจ่ายคืนกี่บาท
1.ผู้ประกันตนคนนี้จ่ายเงินเข้ากองทุนเท่าใด มาคิดกัน
เอา 750 คูณ 12 (เดือน) คูณ 35 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 315,000 บาท
2.คนนี้รับเงินชราภาพจากกองทุนฯ เป็นเงินกี่บาท
เอา 7,500 คูณ 12 (เดือน) คูณ 25 ปี ได้เท่ากับ 2,250,000 บาท (สองล้านสองแสนห้าหมื่นบาท)
3. ถ้าคนๆ เดิมอายุยืนยาวซัก 90 ปี รับบำนาญรวม 2,700,000 บาท (สองล้านเจ็ดแสนบาท)
4. ถ้าคนๆเดิมอายุสั้นแค่ 67 ปี รับบำนาญรวม 630,000 บาท
5.ถ้าคนๆเดิมอายุสั้นแค่ 63 ปี ได้เงิน 270,000 + 75,000 บาท = รับบำนาญ+บำเหน็จตกทอดรวม 345,000 บาท
6.ถ้าคนนี้ตายก่อนมีสิทธิรับบำนาญจะจ่ายเป็นบำเหน็จให้ #ทายาทตามกฎหมาย พร้อมเงินปันผล
นี่คือ 1 ใน 7 ของสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม เท่านั้น ยังมีอีก 6 กรณี เช่น ค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย ค่าทันตกรรม ฟันเทียม ค่าคลอดบุตร ค่าหยุดงานเพื่อการคลอด เงินสงเคราะห์บุตร เสียชีวิต เงินสงเคราะห์การเสียชีวิต เงินทุพพลภาพ เงินว่างงาน แล้วเอาเงินที่ไหนมาจ่ายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ อันนี้ในหลักกฎหมายเงิน 750+750 จะถูกนำมาแบ่งย่อย เพื่อจ่ายสิทธิประโยชน์เหล่านี้ โดยเฉพาะเงินบำเหน็จบำนาญจะแบ่งไว้ที่ (3%) 450+450 ต่อเดือนเท่ากับว่าเรามีเงินชราภาพ 900 บาท /ต่อเดือน และ10,800 บาท/ปี
....เงินที่แจ้งในหนังสือนั้นสำหรับผู้ที่รับบำเหน็จชราภาพเท่านั้น (ส่งเงินไม่ถึง180งวด)
ส่วนคนรับบำนาญจะได้ตามตัวอย่างที่คำนวณข้างต้น #ใครที่คิดว่าบำเหน็จดีกว่า เป็นการคิดในช่วงสั้นๆ ไม่ได้มองระยะยาว...hotline 1506

21 มิถุนายน 2561

AEC RCEP TPP บนความเสี่ยงของภาคปศุสัตว์ไทย จะรุ่งโรจน์ หรือ ล่มสลาย

    
    ประเด็นร้อน Trans-Pacific Partnership ที่ผู้เลี้ยงสุกรไทยพลาดไม่ได้ เพราะ NPPC ต้องการให้ผ่านคองเกรส เพื่อครอบครองการค้าเนื้อสุกรทั่วโลกให้ได้

     ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ในวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2559 เวลา 13:30-15:30 น. ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร
“AEC RCEP TPP บนความเสี่ยงของภาคปศุสัตว์ไทย จะรุ่งโรจน์ หรือ ล่มสลาย” โดย รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและการเมือง
เจาะลึกในประเด็น :- 
การเกิดของเขตการค้าเสรีของโลก และจุดเริ่มต้นของการเปิดเสรีการเกษตร
การเจรจาการค้าของโลกหลังเกิด WTO สาเหตุที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหันมาจับกลุ่มหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและสร้างกฎเกณฑ์และมาตรฐานกันเอง
ไทยได้เปรียบหรือเสียเปรียบหลังการเกิดเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA
แนวโน้มการเติบโตของอาเซียนในสายตาของนานาประเทศ อนาคตและโอกาสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในเวทีโลก
แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง CLMV กับโอกาสของไทยที่ต้องเตรียมตัว
ทิศทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ และดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจโลก และประเทศมหาอำนาจชั้นนำ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น และภาพเศรษฐกิจของประเทศจีนในอนาคต ที่จะชี้นำอนาคตของ RCEP
จะเกิดอะไรขึ้นในเวทีโลก ถ้าไทยเดินหน้า RCEP และไม่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก TPP
TPP กับมิติที่แอบแฝงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการสกัดกั้นจีนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในแถบเอเชียแปซิฟิก
โอกาสและแนวโน้มของรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาที่จะให้การรับรอง TPP
และประเด็นเจาะลึกอีกมากมายตามสไตล์ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

ที่มา : สมาคมผู้เลี่ยงสุกรแห่งชาติ

แมคโคร โลตัส บิ๊กซี ยินดีปรับราคาจำหน่ายปลีกเนื้อหมูให้สอดคล้องราคาหมูขุน ก่อนเชิญสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้ค้าส่ง พ่อค้าหน้าฟาร์ม ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศร่วมประชุมครั้งหน้าปลายเดือนนี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทุกฝ่าย


      แมคโคร โลตัส บิ๊กซี ยินดีปรับราคาจำหน่ายปลีกเนื้อหมูให้สอดคล้องราคาหมูขุน ก่อนเชิญสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ผู้ค้าส่ง พ่อค้าหน้าฟาร์ม ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศร่วมประชุมครั้งหน้าปลายเดือนนี้เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทุกฝ่าย

        16 พฤษภาคม 2561 กรมปศุสัตว์ – กรมปศุสัตว์เรียกเรียก 3 ห้างค้าปลีกจับเข่าคุยกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรหลังการตั้งราคาโรลแบ็คของเทสโก้โลตัสกระทบราคาสุกรขุน หลังก่อนหน้านี้กรมการค้าภายในเตือนห้ามนำสินค้าเกษตรมาดั๊มพ์ราคา สุดท้ายตัวแทน 3 ห้างค้าปลีกยินดีปฏิบัติตาม โดยแนะนำให้เรียกประชุมผ่านสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กับสมาชิกทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจสภาพผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรซึ่งเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร
      การประชุมวันนี้ระหว่าง 3 ห้างค้าปลีก แมคโคร โลตัส บิ๊กซี กับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี สหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรนครปฐม โดยมีนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดี เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มจากตัวแทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติกล่าวถึงสภาพโดยรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรว่า เนื่องจากมีการตั้งราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรไม่สอดคล้องราคาสุกรขุนในช่วงเวลาเดียวกัน จากการตั้งราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก ทำให้กลายเป็นราคาอ้างอิงกดราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม ซึ่งขัดกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่ 1/2561 ให้สินค้าสุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุม
รายละเอียดปัญหาที่เกิดขึ้น
       1.เนื่องจากราคาสุกรขุนตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ลดลงจนประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องจนต่ำสุดที่ 36 บาทต่อกิโลกรัมในพื้นที่ตะวันตกช่วงเดือนธันวาคม โดยเป็นราคาซื้อขายสุกรขุนจริงช่วง 8 เดือนก่อนมีนาคม 2561 เฉลี่ยในระดับ 38-50 บาทต่อกิโลกรัมทั้งประเทศ โดยราคาเนื้อสุกรที่สำรวจจากห้างค้าปลีกจะอยู่ในระดับ 87-105 บาทต่อกิโลกรัม(โดยประมาณ)
       2.ช่วงตั้งแต่พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมาสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ร่วมกับภาครัฐหาทางแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกต่ำมาตลอดในหลายวิธีเพื่อให้สถานการณ์ด้านราคาให้ดีขึ้น จวบจนช่วงมีนาคม 2561 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ประเมิน Supply ของตลาดลดลงจากการลดแม่พันธุ์ตามกลไกตลาด และเลิกอาชีพการเลี้ยงสุกรไปประมาณ 20% จากจำนวนผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศจากปัญหาการขาดทุน ทำให้มีการปรับราคาสุกรขุนต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรกรขายให้ได้สูงกว่าราคาต้นทุนที่ 63.78 บาทต่อกิโลกรัมตามการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2561
      3. ปกติโครงสร้างราคาสุกรเนื้อแดง(สะโพก หัวไหล่) การตั้งราคาจำหน่ายปลีกจะประมาณ 2 เท่าของราคาสุกรขุน โดย ณ ราคาอิงตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 63 บาท ราคาเนื้อสุกรควรอยู่ที่ 126 บาท โดยราคาประกาศของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 อยู่ที่ 120-125 บาทต่อกิโลกรัม
      4. หลังจากราคาสุกรขุนไต่ระดับมาจนถึงระดับต้นทุน 63 บาท มีแรงต้านราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มที่ไม่เป็นไปตามกลไกของตลาด  สาเหตุหนึ่งมาจากการตั้งราคาจูงใจของห้างค้าปลีกที่ต่ำมาก ไม่สอดคล้องราคาสุกรขุนและราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรของกรมการค้าภายใน เช่น ราคาปลีกที่กิโลกรัมละ 102 บาท(ตามภาพเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ซึ่งราคาลักษณะนี้จะมีทุกวันในห้างค้าปลีกแห่งหนึ่ง) เมื่อคำนวณย้อนกลับ กลับกลายเป็นการสร้างราคาอ้างอิงราคาสุกรขุนที่ 50-51 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้เกษตรกรถูกกดราคาหน้าฟาร์มโดยเฉพาะฟาร์มขนาดเล็ก
       5.เนื่องจากสินค้าสุกรและเนื้อสุกร เป็นสินค้าควบคุมตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่ 1/2561 การกำหนดราคาซื้อราคาขายที่ก่อให้เกิดความเสียหายถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ระวางบทลงโทษไว้ที่ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
       6.เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดอยู่ได้ โดยเฉพาะขนาดกลางถึงรายย่อย สามารถอยู่ในอาชีพได้ เพราะปัจจุบันเครือข่ายห้างค้าปลีกมีจำนวนสูงขึ้นใกล้ 50% ของตลาดทั้งหมด ทำให้ราคาจำหน่ายปลีกของห้างค้าปลีก กลายเป็นราคาอ้างอิงให้พ่อค้าคนกลางนำไปกดดันราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มในวงกว้าง เนื่องจากสุกรเป็นสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนไหวเมื่อมีสภาพการกดราคา จะเกิดความตระหนก
ความประสงค์ในการร่วมหารือในครั้งนี้ด้วยเหตุที่สุกรและเนื้อสุกร เป็นสินค้าควบคุมและเป็นสินค้าอ่อนไหว เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรในวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเรื่องมิให้ห้างค้าปลีกนำสินค้าเนื้อสุกร ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรมาทำโปรโมชั่นโดยการตั้งราคาจูงใจ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงขอให้ห้างค้าปลีกระงับการนำสินค้าเนื้อสุกรมาตั้งราคาจูงใจลูกค้าในลักษณะดั๊มพ์ราคาอีก
ตัวแทนจาก 3 ห้างค้าปลีกโดยคุณธนวรรษ บุญโต ผู้จัดการฝ่ายรัฐสัมพันธ์ Tesco Lotus ชี้แจงที่ประชุมหลังเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดว่าห้างค้าปลีกต้องรักษาผู้เลี้ยงไว้ เพราะถ้าไม่มีพวกท่าน ห้างก็ไม่มีเนื้อหมูขาย แต่จะระงับโปรโมชั่นทันทีไม่ได้เพราะห้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นด้วย เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค บางรายการมีโฆษณาไปแล้ว การระงับจะไปขัดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และเนื่องจากยังมีห้างค้าปลีกอีกหลายแห่งที่ไม่ได้ถูกเรียกมาในวันนี้ ซึ่งทุกห้างจะเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เช่น TOP The Mall Group Max Value ซึ่งถ้าจำเป็นต้องห้ามมิให้นำเนื้อสุกรมาจัดโปรโมชั่น จะต้องดำเนินการพร้อมกัน ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปแนะนำให้เชิญ ผู้ค้าส่งให้กับห้าง พ่อค้าที่ซื้อสุกรหน้าฟาร์ม และตัวแทนจากฟาร์มทั่วประเทศมาร่วมประชุมเพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งระบบ โดยไม่มีการเอารัดเอาเปรียบกัน
        คุณสมคิด เรืองวิไลทรัพย์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรนครปฐมให้ข้อมูลกับที่ประชุมว่าต้นทุนสุกรต่อกิโลกรัมที่คำนวณโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปีนี้อยู่ที่ 63.78 บาท การตั้งราคาของห้างโลตัส 105 บาทต่อกิโลกรัมในวันนี้เท่ากับต้องไปซื้อสุกรหน้าฟาร์มที่ 52 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขาดทุนมาก เกษตรกรมีมากมีโอกาสที่จำเป็นต้องขายเพราะการขาดสภาพคล่องจากการขาดทุนมานานมาก
ในขณะที่คุณสุวดี ธีรสัตยกุล ตัวแทนผู้เลี้ยงสุกรจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีได้กล่าวว่าช่วงนี้พ่อค้าจะนำราคาห้างมาอ้างตลอด ทำให้เราจึงต้องมาทำความเข้าใจกับห้างให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงเพื่อหาทางแก้ปัญหาเพื่อรักษาผู้เลี้ยงสุกรทุกขนาดไว้
ก่อนจบการประชุมรองอธิบดีจีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ ย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกห้างจะต้องมารับทราบและดำเนินการให้สอดคล้องกัน แต่ท่านมีภารกิจต้องไปประชุม OIE 20-25 พฤษภาคม นี้ที่ฝรั่งเศส จึงต้องกำหนดประชุมหลังการเดินทางกลับ ซึ่งฝ่ายเลขาได้กำหนดกับตัวแทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเบื้องต้นเป็นวันพุธที่ 30 พฤษภาคมนี้ โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้กล่าวจากข้างต้นมาร่วมหาทางแก้ไขอย่างด่วนที่สุด โดยจะส่งหนังสือด่วนถึงสมาคมผู้ค้าปลีกไทยให้เร่งให้สมาชิกดำเนินการดูแลการตั้งราคาจำหน่ายปลีกให้สอดคล้องกับราคาของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ก่อนเดินทางร่วมประชุม OIE ที่ฝรั่งเศส 
ที่มา : สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ